วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

วันครู





ความหมายของครู 

          ครู หมายถึง  ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน


ความสำคัญของครู 
          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี 

          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆ คน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง 


วันครู

ประวัติความเป็นมา 

          วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู 

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา 

          พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า 

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง" 

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน 

          ด้วยเหตุนี้ คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว 

          งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ 

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู 
 
          เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู ตลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ

กิจกรรมวันครู 

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

          1. กิจกรรมทางศาสนา

          2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น 
          
          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีกล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          จากนั้นประธานจัดงาน วันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

 คำปฏิญาณตนของครู

          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          

มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู           1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
 




โรงเรียนทุ่งสง

                                    โรงเรียนทุ่งสง


ได้ก่อตั้งครั้งแรก  เมื่อวันที่  23  สิงหาคม  พ.ศ. 2486  โดยอาศัยโรงธรรมศาลาในบริเวณวัดชัยชุมพลเป็นสถานที่เรียน  โดยมีนายสิริ  รัตนะรัต  ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่คนแรก  ต่อมาได้ย้ายมาขอใช้สถานที่ราชพัสดุ  ติดกับโรงเรียนวัดชัยชุมพล  เป็นสถานที่ก่อตั้งโรงเรียน   ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ. 2490  โรงเรียนจึงได้จัดงบประมาณจากทางราชการให้สร้างอาคารเรียนถาวรที่ราชพัสดุ  ในเนื้อที่  2  ไร่  3  งาน  โดยในระยะแรกเปิดรับสมัครนักเรียนทั้งชายและหญิงเข้าเรียน  ต่อมาในปี  พ.ศ. 2501  จึงได้แยกนักเรียนหญิงออกไปตั้งเป็นโรงเรียนสตรีทุ่งสง  จากความคับแคบของเนื้อที่โรงเรียน  ทำให้ไม่สามารถขยายอาคารสถานที่ให้พอเพียงกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี  ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนในสมัยนั้นได้ดำริที่จะย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนในปี  พ.ศ. 2512  นายพินิจ  นุ่นพันธ์  ซึ่งดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนทุ่งสงในสมัยนั้น จึงได้ดำเนินเรื่องขอให้ที่ดินราชพัสดุบริเวณกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน  เขต  8  เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่  ทางราชการได้อนุมัติ  และดำเนินการจัดสร้างอาคารประกอบขึ้นในปี  พ.ศ. 2513    แล้วเสร็จ    จึงเปิดให้นักเรียนเข้าเรียนในสถานที่แห่งใหม่นั้น เมื่อปี  พ.ศ. 2516   เป็นต้นมา  ถือว่าได้เป็นยุคใหม่ของโรงเรียน  โดยมีลำดับขั้นของการพัฒนาดังนี้
ปี พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกให้โรงเรียนทุ่งสง  เข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนมัธยมแบบผสมในส่วนภูมิภาค  (ค.ม.ภ.1) รุ่นที่  2  โดยเริ่มโครงการตั้งแต่  พ.ศ. 2518  และสิ้นสุดโครงการเมื่อปี  พ.ศ. 2521
ปี  พ.ศ. 2520โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งในระยะแรกเปิดสอนเพียง  2  ห้องเรียนต่อระดับชั้น  และได้เปิดเพิ่มเป็น  8  ห้องเรียนต่อระดับชั้น  ในระยะเวลาต่อมา
ปี  พ.ศ. 2524 โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากระทรวงศึกษาธิการ  ให้เป็นโรงเรียนดีเด่นได้รับรางวัลพระราชทานประเภทโรงเรียนดีเด่นขนาดใหญ่
ปี  พ.ศ. 2527  กระทรวงศึกษาธิการได้มอบรางวัลให้กับโรงเรียนในฐานะเป็นโรงเรียนผู้ดำเนินการใช้หลักสูตรดีเด่น  ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ปี  พ.ศ. 2530 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมจริยศึกษาดีเด่น  ส่วนภูมิภาค
ปี  พ.ศ.2531สมาคมบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย  ได้ยกย่องผู้บริหารโรงเรียนทุ่งสง  (นายศุภมน  เสาหฤทวงศ์)  เป็นผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ดีเด่นในเขตการศึกษา  3
ปี  พ.ศ.2534เป็นโรงเรียนหน่วยเบิกกรมสามัญศึกษา  ประจำคลัง   ณ  อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปี  พ.ศ. 2536รับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นแบบสหศึกษา   โดยเริ่มจากชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 1 (ในปีการศึกษา  2538 รับนักเรียนแบบสหศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายครบทุกระดับชั้น)
ปี พ.ศ.2537โรงเรียนทุ่งสงเป็นโรงเรียนโครงการร่วมโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปี  พ.ศ. 2539โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากกรมสามัญศึกษาเข้าร่วมโครงการห้องสมุด
กาญจนาภิเษก  และโครงการปฏิรูปการศึกษา 
ปี  พ.ศ. 2542โรงเรียนทุ่งสงได้จัดโครงการร่วมกับสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราชจัดเปิดสอนโครงการ  กศ.บป.
ปี  พ.ศ.2543โรงเรียนทุ่งสงได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสีเขียว  ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปี  พ.ศ. 2544โรงเรียนทุ่งสงได้รับประกาศเกียรติคุณจากกรมสามัญศึกษา  ให้เป็นโรงเรียนจัดระบบช่วยเหลือนักเรียนดีเด่น
ปี พ.ศ.2545โรงเรียนทุ่งสงได้รับรางวัลปฏิบัติรูปการเรียนดีเด่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปี  พ.ศ. 2547โรงเรียนทุ่งสงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการสถานการศึกษาเข้าร่วมโครงการขยายผลการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  
เขตพื้นที่ภาคใต้ 
ปี พ.ศ. 2548โรงเรียนทุ่งสงได้รับงบประมาณจากผู้ว่า CEO ปรับปรุงห้องสมุด IT  ได้รับการสนับสนุนตามโครงการ TOT  IT  school  จากบริษัท  TOT  และได้จัดสร้าง IT  โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ปกครองและชุมชน
ปี พ.ศ. 2549โรงเรียนทุ่งสงได้จัดโครงการห้องเรียนพิเศษ  ในระดับชั้น ม.1, ม.4 
ปี พ.ศ. 2550โรงเรียนทุ่งสงได้จัดโครงการห้องเรียนพิเศษ ม.1,ม.2,ม.4,ม.5
ปี พ.ศ. 2551โรงเรียนทุ่งสงได้จัดโครงการห้องเรียนพิเศษ ม.1- ม.6 
ปี พ.ศ. 2552 โรงเรียนทุ่งสงได้รับประกาศจาก ส.พ.ฐ เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล
ปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนทุ่งสงได้จัดสร้างอาคารหอเกียรติยศและศูนย์วิทยบริการ 
ปี พ.ศ. 2554 โรงเรียนทุ่งสงได้จัดสร้างโรงอาหารและหอประชุม
ผู้อำนวยการโรงเรียน    นายสนั่น                พลรัฐพธาสิทธิ์
วุฒิการศึกษาสูงสุด   ศษ.ม.  วิชาเอก  บริหารการศึกษา
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี พ.ศ.  2554  จนถึงปัจจุบัน  
รองผู้อำนวยการโรงเรียน  จำนวน  4 คน
นายนอบ        บุญชู         วุฒิการศึกษาสูงสุด ปริญญาโท  วิชาเอก  บริหารการศึกษา
นายประทีป    ปานเนือง     วุฒิการศึกษาสูงสุด  ปริญญาโท  วิชาเอก  บริหารการศึกษา
นายจีรวิทย์     มั่นคงวัฒนะ วุฒิการศึกษาสูงสุด  ปริญญาตรี วิชาเอก   เคมี 
นางสาวเสาวรักษ์   ไชยศร       วุฒิการศึกษาสูงสุด ปริญญาโท  วิชาเอก  บริหารการศึกษา
โครงสร้างการบริหาร
โรงเรียนมีการแบ่งโครงสร้างบริหารออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มบริหารงานวิชาการ  กลุ่มบริหารงานบุคคลและบริหารงบประมาณ กลุ่มบริหารงานทั่วไป และ กลุ่มบริหารกิจการนักเรียนและชุมชนสัมพันธ์ โดยมีรองผู้อำนวยการรับผิดชอบและดูแลการบริหาร 4 คน มีคณะกรรมการสถานศึกษาประกอบด้วยสมาชิก 16 คน ซึ่งมีหน้าที่กำหนดแผนงานการพัฒนาโรงเรียน การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการศึกษา  นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการสมาคมครูและผู้ปกครองโรงเรียนทุ่งสง และสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนทุ่งสง ซึ่งให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียน  มีคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ระดับโรงเรียน
วิสัยทัศน์โรงเรียนทุ่งสง 
จัดการศึกษามุ่งสู่มาตรฐานสากล  เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้มีศักยภาพเป็นพลโลก 
พันธกิจ 
1.   จัดหลักสูตรเทียบเคียงมาตรฐานสากล
2.   พัฒนาการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสื่อสารได้ 2 ภาษา เป็นเลิศด้านวิชาการ
3.   จัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ นำเทคโนโลยีไปใช้ใน    
การสร้างสรรค์ผลิตงานประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และมีศักยภาพเป็นพลโลก 
4.   ส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ มีสุนทรียภาพทางศิลปะ ดนตรี และกีฬา 
5.    ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนตามความถนัดอย่างเต็มศักยภาพ
6.    จัดระบบการบริหารคุณภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากล
เป้าหมาย 
  1. ผู้เรียนได้เรียนในหลักสูตรเทียบเคียงมาตรฐานสากล
  2. ผู้เรียนเลือกเรียนได้ในโปรแกรมการเรียนที่ตนเองถนัด
  3. มีความเป็นเลิศทางวิชาการ  มีคุณธรรมจริยธรรม
  4. ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ นำเทคโนโลยีไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตงานประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและมีศักยภาพเป็นพลโลก
  5. ผู้เรียนมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ มีสุนทรีภาพทางศิลปะ  ดนตรี  กีฬา 
  6. ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างน้อยสองภาษา
  7. ผู้เรียนสามารถสร้างผลงานได้อย่างสร้างสรรค์
ปรัชญาการจัดการศึกษา   
สถานศึกษาเน้นการจัดการศึกษาที่สนองความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่น  จัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พัฒนาสมรรถภาพด้านการเขียน   อ่าน  ฟัง  พูด  การคิดเป็นระบบมีคุณธรรมจริยธรรม  มีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้าน  ศิลปะ  ดนตรี และกีฬา มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีปลอดจากสิ่งเสพติด  การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  มีทักษะในการทำงานและสามารถเรียนรูได้ด้วยตนเอง

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

วันเด็ก

 
วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการที่มิได้ชดเชยในวันทำงานถัดไป (วันจันทร์) มีการให้คำขวัญวันเด็กทุกปีโดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
          งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
          รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลรัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
          งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้ 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ
          - ให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง
          - เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
          เด็ก คือ ทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า และมั่นคงอีกทั้งเป็นผู้ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่ดูแลสังคมตลอดจนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง และอื่น ๆ ฯลฯ
          ดังนั้น ทุกสังคมจึงให้ความสำคัญแก่เด็ก และจัดให้มีวันเด็กขึ้นทุกปี เพื่อให้เด็กรู้ถึงความสำคัญของตนเอง จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับเป็นผู้ที่มีความสำคัญของประเทศชาติ ด้วยการตั้งใจใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย รู้จักการใช้เวลา ความคิด มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ

เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี

          เพลง หน้าที่ของเด็ก หรือเรียกกันติดปากว่าเพลง เด็กเอ๋ยเด็กดี เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเตือนใจเด็กและเยาวชน เพื่อให้ระลึกถึงสิ่งที่ตนควรทำ ประพันธ์เนื้อร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน เพลงนี้มักเปิดในช่วงวันเด็กแห่งชาติ
          เนื้อเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี
          เด็กเอ๋ยเด็กดี
          ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
          เด็กเอ๋ยเด็กดี
          ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
          หนึ่ง นับถือศาสนา
          สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
          สาม เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
          สี่ วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
          ห้า ยึดมั่นกตัญญู
          หก เป็นผู้รู้รักการงาน
          เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ
          ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
          แปด รู้จักออมประหยัด
          เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล
          น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ
          ให้เหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา
          สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์
          รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา
          เด็กสมัยชาติพัฒนา
          จะเป็นเด็กที่พาชาติไทยเจริญ


วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

วันปีใหม่

                                                            วันปีใหม่




                              


                                   


ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่  Happy New Year 

       วันปีใหม่ (New Year) มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน   

ความเป็นมาของวันขึ้นปีใหม่ไทย
 
      ในอดีตวันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
 
      การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

วันปีใหม่
 
      ารจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

       ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม 

       1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
       2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
       3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
       4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่

       1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
       2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
       3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
 
     วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น
 
 
 
 
 

กิจกรรมในวันขึ้นปีใหม่

      
วันปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย
 เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่
 
     เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 
 
ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่
     การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่างๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่างๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

     สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

     ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"